06 November 2007

วิจารณ์ หลังกำแพงฮาร์วาร์ด

หลังกำแพงฮาร์วาร์ด: เรียนรู้ความเป็นเลิศทางปัญญา
Inside Harvard
Enter To Grow in Wisdom

โดย เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

สำนักพิมพ์ ซัคเซส มีเดีย
พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2550
ISBN 978-974-489-595-0
ปกอ่อน 210 หน้า ราคา 175 บาท


ศาสตราจารย์ ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ไม่ได้เรียนจบที่ฮาร์วาร์ด แต่ เป็น นักวิชาการอาวุโส หรือ Senior Fellow ที่ศูนย์ศึกษาธุรกิจ และรัฐบาล Kennedy School of Government มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และยังได้รับเชิญให้เป็น Associate หรือ นักวิชาการสังกัด ที่ศูนย์ศึกษากิจการระหว่างประเทศเวเธอร์เฮด (Weatherhead Center for International Affairs) ที่ฮาร์วาร์ดอีกด้วย อาจารย์ได้ใช้เวลา 1 ปี หลังจากการยุบสภาในรัฐบาลชุดเก่า ระหว่าง พ.ศ. 2549 - 2550 หลังกำแพงฮาร์วาร์ด ทำการวิจัย ร่วมบรรยาย เป็นที่ปรึกษา ว่าง่ายๆ คือ เป็นอาจารย์อยู่ที่นั่น และด้วยวัฒนธรรมการเรียนรู้ของที่นั่น อาจารย์เกรียงศักดิ์ ก็ได้เป็นผู้เรียนไปด้วยพร้อมๆกัน

เริ่มบทแรกของหนังสือเล่มนี้ ก็ทำให้อิ่มใจซะแล้ว เพราะอาจารย์ได้เล่าถึง King Bhumibol Adulyadej Square หรือ จตุรัสพระมหากษัตริย์ภูมิพลอดุลยเดช ที่อยู่ด้านหนึ่งของ Kennedy School of Government ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จตุรัสพระมหากษัตริย์ภูมิพลอดุลยเดช นี้ เป็นลานอิฐกว้าง เชื่อมไปสู่ John F. Kennedy Park เป็นลานที่ผู้คนนิยมเดินผ่าน สวยงาม และน่าเดิน ทำให้ฉันรู้สึกถึง พระเมตตาและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ที่ไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้นที่ระลึกถึง แต่ชาวโลกก็ระลึกถึงด้วย และทำให้สัมผัสได้ถึงความคุ้นเคยและผูกพันของชีวิตชาวฮาร์วาร์ด กับชีวิตคนไทย ถ้าได้ไปเรียนที่นั่นคงไม่เหงาเลย เพราะมีจตุรัสในหลวงอยู่ด้วย

แล้วอาจารย์เกรียงศักดิ์ ก็เล่าถึงวิถี และวัฒนธรรมฮาร์วาร์ด ที่โอบอุ้มความรู้ และการเรียนรู้อย่างไม่หยุดยั้ง และจุดมุ่งหมายของมหาวิทยาลัยอายุกว่า 370 ปี (ตั้งในปี พ.ศ. 2179) ที่จะ สร้างคน ที่ต้องการทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นให้กับโลก การที่คุณจะเข้ามาเรียนที่ฮาร์วาร์ดได้ มหาวิทยาลัยต้องรู้ก่อนว่า "คุณต้องการมาเรียนที่นี่เพื่ออะไร" คุณต้องเขียน Statement of Purpose มีอาจารย์ท่านหนึ่งที่ฮาร์วาร์ด กล่าวว่า "คนต้องการเปลี่ยนโลกไม่ใช่คนธรรมดา ถ้าคิดจะเป็นคนธรรมดาก็ไม่ต้องเข้ามาเรียนที่นี่" ได้อ่านแล้วก็ปลื้มใจ อยากเข้าไปเรียนใจจะขาด ฉันว่าถ้าคุณไม่มีจุดมุ่งหมายเดียวกับมหาวิทยาลัย สถานศึกษานั้นก็ไม่เหมาะกับคุณ และคุณก็ไม่เหมาะกับที่นั้น

อ่านแล้วก็ทำให้ดีใจมาก ที่มีสถานที่อย่างนี้อยู่ในโลก สถานที่ในอุดมคติที่นักเรียนใฝ่รู้ คุณครูก็ใส่ใจในการสอน (อย่างมาก) ที่ฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยจะอำนวยความสะดวกให้นักศึกษามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีการจัดเตรียมเอกสารที่จำเป็นสำหรับการเรียนไว้เป็นชุดๆ เหลือแค่เราศึกษามันเท่านั้น ในห้องเรียนก็มีกระดานหลายกระดาน ให้อาจารย์เขียนได้อย่างเต็มที่แบบไม่ต้องลบ นอกจากนี้ ฮาร์วาร์ดยังเป็นที่รวมของคนหลากหลาย ต่างกันทั้งเชื่้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมเดิม แต่ทุกคนก็ยอมรับในความแตกต่างซึ่งกันและกัน ทั้งยังเรียนรู้จากความแตกต่างนั้นอีกด้วย เป็นสังคมในฝันที่ฉันอยากให้เกิดในประเทศไทยเราจริงๆ เริ่มต้นในสถาบันการศึกษาของเราก่อน ก็ยอดเยี่ยมเลย

แล้วการเรียนรู้นั้น ก็อยู่ในทุกที่ของฮาร์วาร์ดจริงๆ อาจารย์วิชาหนึ่ง ยังเข้าไปนั่งฟังบรรยายของอาจารย์ในอีกวิชาหนึ่งเลย และนี่ยังไม่ได้กล่าวถึง ห้องสมุดที่มีหนังสือมากกว่า 15 ล้านเล่ม ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสหรัฐอเมริกา และอันดับ 4 ของโลกอีกด้วย! ขอฉันเข้าไปแหวกว่ายในมหาสมุทรความรู้นี้สัก 1 ปีได้ไหมเนี่ย

อาจารย์เกรียงศักดิ์ ยังให้ความเห็นถึงระบบการศึกษาว่า คนเก่งที่สุด ควรมาเป็นครู และสังคมก็ควรจะยินยอมให้ค่าตอบแทนในอาชีพนี้ สูงกว่า อาชีพอื่น ซึ่งฉันเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ครูเป็นผู้สร้างคนเชียวนะ ฉันพูดเสมอว่า เราควรให้เงินเดือนครู (ในทุกระดับ) มากขึ้น ฉันรังเกลียดระบบที่นักเรียนต้องมาเสียเวลานั่งอยู่ในห้อง เพื่อเอาคะแนน (ไม่ใช่ความรู้) แล้วต้องไปเอาความรู้จริงๆ ก็ตอนเรียนพิเศษ ฉันเป็นตัวอย่างที่มีชีวิต ของเด็กที่ต่อต้านระบบนี้ ฉันลาออกจากโรงเรียนมัธยมชื่อดัง แล้วมาเรียนพิเศษอย่างเดียว เพราะฉันต้องการความรู้ และอยากจะได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่จะให้ความรู้ฉันได้ เกรด 2 กว่าในมัธยมศึกษา ก็จบเกียรตินิยมอันดับหนึ่งในระดับมหาวิทยาลัยได้ ฉันว่า การศึกษาบ้านเราควรได้รับ การแก้ไขปรับปรุง ด้วยจุดมุ่งหมายเื่พื่อการพัฒนาประเทศ และพัฒนาคน อย่างจริงจัง

มุมมองของอาจารย์เกรียงศักดิ์ ที่เขียนไว้ในหนังสือ เกี่ยวกับ การพัฒนาประเทศ ภาวะผู้นำ และ การเมือง ก็น่าสนใจมาก อาจารย์อธิบายถึง ทฤษฎีลิงกระโดดต้นไม้ และความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative advantage) ซึ่งอธิบายว่า ทำไมประเทศจำนวนมากจึงยากจน ไม่มั่นคง และไม่เท่าเทียมกัน ที่ ศาสตราจารย์ ริคาร์โด เฮาส์แมนน์ (Prof. Ricardo Hausmann) เสนอไว้ สำหรับการบริหารภาวะผู้นำ การเมืองกับเงิน และ การเมืองบนวิถีประชาธิปไตย ที่มีหัวใจเป็นความสัตย์จริง (Integrity) อาจารย์เกรียงศักดิ์ ก็ได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจมาก ที่จะทำให้มันเป็นจริงขึ้นมาในประเทศไทยเรา

มากไปกว่าหนังสือเล่มนี้ ประโยชน์ยิ่งใหญ่ที่อาจารย์ได้ทำไว้แก่เรา คือ การริเริ่มจัดตั้ง ศูนย์ไทยคดีศึกษา หรือ Center of Thai Studies ขึ้น ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สอนหลักสูตรวิชาการเกี่ยวกับประเทศไทย วิจัยเรื่องของประเทศไทย ในมุมมองวิชาการที่เข้มข้นและเป็นอิสระ ซึ่งฉันเอง ก็เชื่อเหมือนกับ อาจารย์เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ว่า ศูนย์ไทยคดีศึกษานี้ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยเราอย่างมาก เพราะผลการวิจัยต่างๆที่จะเกิดขึ้น ก็ย่อมสะท้อนกลับมายังประเทศเรา มีคนช่วยวิเคราะห์การกระทำที่ "เรา" โดยอาจหมายถึง รัฐบาล หรือ คนไทยโดยรวม กระทำ และทิศทางที่เรากำลังจะก้าวเดินไป ฉันเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ศูนย์ไทยคดีศึกษา ที่ฮาร์วาร์ดนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศของเราอย่างมาก ต้องขอขอบคุณ อาจารย์ เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ที่ได้ริเริ่ม และทำให้การตั้งศูนย์นี้เป็นจริงขึ้นมา

เพื่อที่ประเทศเราจะได้เป็น ประเทศไทยพัฒนา เหมือนอย่างที่ตั้งใจ และอย่างที่ได้อ่านคำนี้หลายๆครั้งในหนังสือ หลังกำแพงฮาร์วาร์ดเล่มนี้

No comments:

Add to Google Reader or Homepage