14 June 2008

มงคล 38 ประการ : 2. คบบัณฑิต

วันนี้ วันดี มงคลดี ขอมอบมงคลที่ 2 เป็นของขวัญค่ะ

คัดย่อจากหนังสือ มงคล ๓๘ และอุทุมพริกสูตร โดย พระมหาวีระ ถาวโร (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)

มงคลที่ สอง พระบาลีท่านว่า

ปัณฑิตานัญจัง เสวะนา เอตัมมังคะละมุตตะมัง

การคบบัณฑิต จัดว่าเป็นอุดมมงคล

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้คบบัญฑิต คือ คนรู้ คือ รู้ดี แล้วก็เลี่ยงชั่ว

โดยมงคล 38 ประการนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสไว้ตามลำดับ จากต่ำถึงสูง จนถึงสูงสุด คือ พระนิพพาน ท่านตรัสรวมความดีไว้ตั้งแต่ดีเล็ก ถึงดีใหญ่ เรียกว่า พระพุทธเจ้าท่านรวมพระไตรปิฎกไว้หมดในมงคล 38 ประการ บุคคลใดทรงความดี 38 ประการได้ครบถ้วน ก้ได้ชื่อว่า ทรงพระไตรปิฎก เป็นคนดีสูงสุดในพระพุทธศาสนา ตามเจตนาของพระพุทธเจ้า

ที่บอกว่า จริยาของบัณฑิต คือ รู้จักหลีกเลี่ยงความชั่ว และ พยายามประพฤติความดีนั้น ท่านว่า คนใดก็ดี ทรงพรหมวิหาร 4 ประการได้ แล้วก็เว้นจาก อคติทั้ง 4 ประการได้ เป็นบัณฑิตตามที่องค์สมเด็จพระประทีปแก้วทรงมีความประสงค์

สำหรับพรหมวิหาร 4 นั้น
วิหาร แปลว่า ที่อยู่ | พรหม แปลว่า ประเสริฐ | คือ คนที่มีอารมณ์อยู่ในความประเสริฐตลอดเวลา

ข้อ 1: เมตตาความรัก
รักตัวเอง รักคนอื่น รักสัตว์อื่นในโลกทั้งหมดเสมอด้วยตน ไม่ประกาศตนเป็นศัตรูกับผู้ใด

ข้อ 2: กรุณาความสงสาร
นอกจากจะมีความรักแล้ว ยังสงสาร ประกอบไปด้วยความปราณี เห็นใครมีทุกข์ก็ต้องสงเคราะห์ให้มีสุข ตามฐานะที่ตนจะพึงทำได้

ข้อ 3: มีจิตใจอ่อนโยน ไม่อิจฉาริษยาใคร
เมื่อเห็นใครมีความดี มีความสุข ก็พลอยยินดีด้วย ส่งเสริมความดีความสุขของบุคคลนั้นด้วยความจริงใจ

ข้อ 4: สิ่งใดที่เกินวิสัยที่เราจะช่วยได้ เพราะเป็นกฎของกรรม เราก็มีอารมณ์วางเฉย
ถือว่าเขาทำความผิด ก็ต้องรับโทษตามกฎหมายตามระเบียบ มีอารมณ์วางเฉย ไม่ซ้ำเติม แล้วก็ไม่เดือดร้อนด้วย

ต่อมา บัณฑิต ต้องหลีกเลี่ยง อคติ 4 ประการ
อคติ แปลว่า ลำเอียง รักไม่เท่ากัน

ลำเอียงเพราะความรัก: รักมากให้มาก รักน้อยให้น้อย

ลำเอียงเพราะความโกรธ: โกรธไม่ให้

ลำเอียงเพราะความกลัว: กลัวไม่ให้

ลำเอียงเพราะความหลง: หลงว่าเขาชั่ว หรือหลงว่าเขาดี

นี่ต้องหลีกเลี่ยง

สำหรับนักบวช หรือพระ ท่านว่า ถ้ายังพอใจอยู่ในโลกธรรม ทั้ง 8 ประการ คือ
1) อยากมีลาภ อยากร่ำรวย 2) ลาภไม่เกิดหรือเสื่อมไปก็เสียใจร้อนใจ 3) อยากมียศฐาบรรดาศักดิ์ คิดว่าดีกว่าคนอื่น 4) เมื่อยศสลายตัวก็เสียใจ 5) ใครเขานินทาก็เดือดร้อนไม่ชอบใจ 6) ใครเขาสรรเสริญก็ดีใจตามคำเขา 7) พอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสตามกามารมณ์ 8) ถ้ามีความทุกข์ใดๆ ความปรารถนาไม่สมหวังก็เดือดร้อน

ถ้านักบวชยังละกฎ 8 ประการนี้ไม่ได้ ก็ไม่ใช่บัณฑิต เป็นพาล

นักบวชที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวว่า เป็นบัณฑิต คือ ต้องทรงความดี 3 ประการ
1. อธิศีลสิกขา: รักษาศีลบริสุทธิ์
2. อธิจิตสิกขา: ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ฌาน
3. อธิปัญญาสิกขา: มีวิปัสสนาญาณ ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา และมีจิตมุ่งมั่นอย่างเดียว คือความดับไม่มีเชื้อ กิเลสดับ

ตัวอย่างบัณฑิต ที่เราควรจะคบ ก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระนามว่า ภูมิพลอดุลยเดช

พระองค์ทรงทำฝน ใช้คาถาเรียกฝน บันดาลให้ฝนตกในที่ทั้งหลาย พระองค์ทรงมีจิตเมตตา ขอให้พสกนิกรราษฎรของพระองค์มีความสุข มีความสบายตามความสามารถของพระองค์ แล้วฝนพระราชทานของพระองค์ ก็ไม่ได้คิดราคา ค่าคิดก็ไม่ได้คิด ไม่ได้คิดเลย แ้ล้วเวลานี้ (พ.ศ. 2517) น้ำมันแพง พระองค์ตั้งหน้าตั้งตาว่าคาถาเสกน้ำเป็นน้ำมัน การที่พระองค์ทำแบบนี้ อาศัยพระมหากรุณา กับพสกนิกรของพระองค์ ว่าจะไม่ต้องพึ่งบารมีชาวต่างชาติ จัดว่าเป็นพรหมวิหาร 4 ของพระมหากษัตริย์ แบบหาประมาณมิได้ ไม่เฉพาะกลุ่มบุคคล มิได้ลำเอียงเที่ยงธรรม ว่า ฝนหนะให้จังหวัดนี้จังหวัดโน้นไม่ให้ ทำไปเพื่อสาธารณประโยชน์

อย่างพระเจ้าแผ่นดิน อย่างนี้ควรจะคบ แล้วเราจะพบหรือคบท่านได้อย่างไร?
ก็คบในฐานะที่พระองค์ทรงเป็น บัณฑิต ไม่ใช่ในฐานะที่เป็นพระมหากษัตริย์ เราพบตอนที่พระองค์ทรงมีความเมตตาปราณี ปรารถนาสงเคราะห์ให้พสกนิกรของพระองค์มีความสุข ทำทุกอย่างเพื่อพสกนิกรทั้งหลายได้มีความสุข แล้วพระองค์ก็ไม่คิดค่าจ้างรางวัล เราพบเมื่อไรก็ได้ คือ ทำใจให้เสมอท่าน

การทำใจให้เสมอกัน แล้วปฏิบัติเสมอกันนี่ เขาเรียกว่า คบหาสมาคม ไม่ต้องไปพบตัว เราคบความเป็นบัณฑิตของพระองค์ คบกับความดีที่เป็นบัณฑิต คือ

คบพรหมวิหาร 4 อยู่ตลอดเวลา พอลืมตาขึ้นมา ก็นึกไว้เสมอว่า
วันนี้ตั้งแต่ลืมตา จนกว่าจะหลับตาลงไปใหม่
เราจะมีจิตใจรักคนและสัตว์ เสมอด้วยตัวของเราเอง จะไม่ประกาศตนเป็นศัตรูกับใคร เรามีความสงสาร ปราณีบุคคลและสัตว์ทั้งหลาย จะสงเคราะห์ตามกำลัง คือจะให้ความสุข ที่ไม่เกินความสามารถที่เราจะให้ได้ เราจะไม่อิจฉาริษยาใคร ถ้าใครได้ดี เราจะสนับสนุนเต็มที่ ถ้าบังเอิญใครเขาสร้างความผิดเกินวิสัยที่เราจะช่วยได้ หรือมีโทษทุกข์ประการใด เราจะไม่ซ้ำเติม แล้วก็จะยับยั้งไม่ทำใจให้ทุรนทุราย ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา

นอกจากนั้นเราจะละเว้นความชั่ว 4 ประการ คือ
ความลำเอียงไม่เที่ยงธรรมเพราะอำนาจของความรัก ลำเอียงไม่เที่ยงธรรมเพราะความโกรธ เพราะความหลง เพราะความกลัว

ตั้งใจไว้อย่างนี้ แล้วปฏิบัติอย่างนี้เป็นปกติ นี่ขึ้นชื่อว่าเราคบบัณฑิต บัณฑิตอยู่กับเรา เพราะใจของเราเป็นบัณฑิต

หากผู้ใดทรงความคบบัณฑิตไว้ องค์สมเด็จพระบรมครูู บอกว่า บุคคลนั้นมีความสุขสูงสุด ที่เรียกว่า อุดมมงคล

ดูเพิ่ม มงคลที่ 1. ไม่คบคนพาล

No comments:

Add to Google Reader or Homepage