28 July 2008

ตรวจรับบ้าน ก่อนโอน/ซื้อ Checking a house before paying

ช่วงนี้มีเพื่อนๆ ซื้อบ้านผ่อนคอนโดฯ กันหลายคน ฉันเองก็ได้เวลาซื้อบ้านกับเขาด้วยเหมือนกัน

ทีนี้พอตัดสินใจแล้ว วางเงินจอง เรื่องสำคัญก็คือวันตรวจรับบ้านนี่แหละ เพราะหลังจากโอนแล้ว บ้านก็เป็นของเรา จะดีหรือไม่ดีอย่างไร (for better or worse)

และบ้านส่วนใหญ่จะมีปัญหา เรื่อง น้ำรั่ว เนื่องมาจาก
  • หลังคารั่ว
  • ท่อรั่ว
  • ห้องน้ำรั่ว เพราะปูกระเบื้องไม่ดี
  • ท่อใต้พื้นห้องน้ำรั่ว
ซึ่งบางที่นั้นเราไม่มีโอกาสจะเห็นเลย นอกจากจะเจาะฝ้าออกมาดู เพราะบ้านที่เราจะซื้อเขาก็ทำเสร็จแล้ว ปิดฝ้าไปแล้ว ต้องอยู่ไปอาจถึงปีถึงจะรู้ ซึ่งก็แย่สำหรับเรา

สำหรับปัญหาหลังคารั่วนี่ เลือกซื้อบ้านหน้าฝนจะดีมาก เพราะเวลาฝนตกหนักๆ ไปดูจริงๆได้เลย เพราะการขึ้นไปฉีดน้ำบนหลังคา ยังไงก็ไม่เท่ากับฟ้าทำ ที่มีทั้งลมและความแรงควบด้วย

สำหรับฉันก็โชคดีหน่อย ที่มีพี่ชายเป็นสถาปนิก ทำงานเกี่ยวกับรับเหมาสร้างบ้านพอดี ก็เลยขอให้พี่เขาไปช่วยดูด้วย แต่ก็ยังไม่วายเกิดเรื่อง!

คือ ตามวิธีตรวจสอบบ้านที่ได้ข้อมูลจากเวป เขาจะสอนให้อุดท่อในห้องน้ำ และขังน้ำไว้ แล้วทิ้งไว้สักพัก เพื่อดูว่ามีน้ำซึมมาชั้นล่างหรือเปล่า ซึ่งพี่เขาก็บอกว่าต้องทำอย่างนั้น แต่ เขาบอกว่า ต้องขอให้ โฟร์แมน ทำให้จะดีกว่า ซึ่งบางที เวลาเราบอกกับโครงการ เขาก็จะพยายามบอกปัด ว่าช่างไม่อยู่บ้าง ไม่ทำบ้าง แต่เราก็ต้องยืนยันนะคะ ไม่อย่างนั้น อาจเกิดปัญหาใหญ่แบบฉันได้ น้ำท่วมบ้าน! เปิดน้ำขังไว้แล้วลืมปิดน้ำ ออกไปทานข้าว กลับมา เจอน้ำตก ตกลงมาจากชั้น 3 ทะลักออกมาหน้าบ้าน ต้องลงมือใช้ท่าอิ๊กคิวไถน้ำออกนอกบ้านกันอย่างแตกตื่น แล้วทีนี้ฟอร์แมนรีบมาดูได้เลย พอแม่บ้านของโครงการ พร้อมกำลังเสริมจากที่บ้านมาช่วยกันเช็ดแห้ง ฟอร์แมนก็มาถึงพอดี เลยได้เจาะฝ้าดูทุกชั้น

เพราะนอกจากน้ำที่ทะลักล้น ยังเจอะน้ำหยดลงมาในห้องน้ำชั้นล่าง แบบในรูป ซึ่งซึมลงมาจากชั้นบน แล้วพอมุดหัวเข้าไปดูใต้ฝ้าแล้ว เจอ
  • น้ำหยดจากท่อ (ท่อรั่ว)
  • น้ำหยดซึมจากคาน
  • เหล็กโผล่ออกมาจากคาน คือคานนี้ เป็นเสาหล่อในที่ คือหล่อตรงนั้นนั่นแหละ ซึ่งถ้าเห็นเหล็กแบบนี้ ก็แปลว่าหล่อปูนมาไม่เต็ม อันตรายก็คือ เหล็กเส้นที่โผล่ออกมาเป็นสนิมได้ แล้วพอสนิมมันลามเข้าไปในคานที่มีปูนหุ้มด้วย คานก็จะเสียความแข็งแรงไป พี่บอกว่า ก็อันตรายในกรณีเกิดแผ่นดินไหว หรือ อยู่ไปนานนาาาานนนนน แต่เราซื้อบ้านใหม่เป็นอย่างนี้ ก็ไม่ไหวนะคะ (อันนี้ต้องใช้ปูนที่มี Strength สูง มาโปะ ปิดเหล็กให้มิด)
บทสรุปก็คือให้โฟร์แมน เขาขังน้ำอีกที ทั้งในห้องน้ำ และที่ระเบียง แล้วก็ค่อยไปดูกันว่า ความเสียหายต่างๆ เกิดจากน้ำรั่ว รึว่า น้ำที่ทะลักออกมา ความเสียหายของวอล์เปเปอร์ หรือพื้นที่จะบวมไม่บวมยังไม่รู้ คนทำน้ำตก ก็ต้องรับไป แต่พวกฝ้า หรือส่วนอื่นที่เกิดจากห้องน้ำรั่ว ก็ให้ทางโครงการรับไป

และฝ้าเพดานที่มีรอยน้ำ ซึ่งเห็นตั้งแต่ก่อนซื้อ ก็ขอให้เขาเจาะ เปิดฝ้าไว้ แล้วพอฝนตกก็ค่อยขับรถไปดูเลยว่า สรุปแก้แล้วหายจริงหรือเปล่า เพราะฝ้าพวกนี้ถ้าไม่ขึ้นรา หรือบวม เขาก็เอาสีทาส่วนที่เลอะ เราก็ไม่รู้แล้ว ว่า หลังคาหายรั่วจริงหรือเปล่า ซึ่งตอนแรกโฟร์แมน ก็พูดเหมือนจะไม่ยอมเปิดฝ้า ก็ต้องขอให้เขาเปิดหละค่ะ ไม่งั้นก็ไม่สบายใจ บอกเขาไป สุดท้ายก็ยอม

ทีนี้พูดถึงการเตรียมตัวไปเช็คบ้านก่อนโอน สิ่งที่ฉันเองได้เรียนรู้มา สำหรับการตรวจรับบ้านทาวน์เฮาส์ ทาวน์โฮม มีดังนี้

เวลาที่ต้องใช้: 1 - 2 วัน เต็ม

สิ่งที่ต้องเตรียม:

1. กล้องถ่ายรูป (เจอจะไหน ถ่ายแหลก แต่ก็ระวัง ถ่ายใกล้เกินไป พอกลับมาบ้านจะทำสรุป เอ๊ ตรงไหนหว่า ?_?)

2. กระดาษ กับ ปากกา (เอาไว้จด จำบ่ได้ด๊อก มันเยอะ)

3. ป้าย ลาเบล (Label) สีสดๆ (ที่อ่านมา เขาจะแนะนำให้ใช้ เทปกาว แต่ฉันว่า อาจจะเหนียวเกินไป ติดวอลเปเปอร์ หรืออะไรอาจทำให้สิ่งนั้นลอกติดมาด้วยได้ แล้วสีก็ไม่ค่อยสดเท่าไร อาจมองยาก)

4. ถุงพลาสติก เยอะๆเลย (เอาไว้หุ้มฝาท่อ ถ้าจะขังน้ำในห้องน้ำเอง แต่ก็ระวังนะจ๊ะ ระวังดีๆ)

5. ผ้าขี้ริ้ว เยอะๆ เลย (เผื่อเช็ดมือ เช็ดเท้า หรือ เช็ดน้ำแบบฉัน -_-")

6. ถังน้ำ (เอาไว้ตักน้ำเท ดูพื้นว่าลาดลงดีไหม มีแอ่งไหม)

7. ลูกแก้ว หลายๆลูก (เอาไว้วางบนพื้น ดูว่าพื้นปูด หรือเป็นแอ่งไหม)

8. อุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น โคมไฟ (เอาไว้ลองเสียบปลั๊ก ดูว่าใช้ได้ไหม)

9. ไฟฉาย และ บันได (เผื่อปีนดูใต้ฝ้า ความจริง บันไดอาจยืมช่างของโครงการก็ได้)

10. สติ (สิ่งนี้สำคัญมากที่สุด ต้องเอาไปด้วย)


พอไปถึงปึ๊บ ก็เปิดน้ำขังในอ่าง และ sink ต่างๆ ให้ครบก่อนเลยนะคะ จะได้ดูได้ว่า ขังน้ำอยู่ไหม และ มีน้ำรั่วจากท่อไหม

นอกนั้นก็ค่อยๆ ดูกันไปค่ะ ช่วยกันดู 2 คน เจออะไรก็แปะไว้ แล้วก็ถ่ายรูปไว้นะคะ วันคุยกับโฟร์แมนจะได้ชัดเจน อ้อ เตรียมอาหารกลางวันไปทานด้วยก็ดีนะคะ ขนมปังก็ได้ จะได้ไม่ต้องออกไปทานให้เสียเวลา เผื่อลืมเปิดน้ำทิ้งไว้ หรือทดสอบอะไรค้างอยู่จะได้ไม่ลืม เช็คให้เสร็จไปเลยทีเดียว ปลอดภัยกว่าค่ะ

หาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เกี่ยวกับการตรวจบ้านได้ จากที่เหล่านี้ค่ะ
ตรวจรับบ้านก่อนโอนแบบผู้ไ่ม่รู้ โดย วิญญู วานิชศิริโรจน์ (ฉันใช้อันนี้เป็นหลักจ๊ะ)
กระทู้ตรวจบ้านแบบผู้ไม่รู้ที่Pantip (อันนี้ก็อ่านไปก่อน)
การตรวจสอบคุณภาพงานสร้างบ้าน

ขอให้โชคดี และได้บ้านดี ที่อยู่เป็นสุขค่ะ

No comments:

Add to Google Reader or Homepage