29 September 2007

หนทาง 5 สายสู่ความดับทุกข์

โดย พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ วัดไตรสิกขาฯ จ.สกลนคร

..เรื่องนี้ดีมาก เพราะมีคนเถียงกันมาก เรื่องสมถะ หรือวิปัสสนา อันไหนดีกว่ากัน เธอสายไหน ฉันสายนี้ ... เพราะอันที่จริง ทุกทางก็เป็นทางที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ทั้งนั้น อยู่ในศาสนาพุทธ ก็สายพระพุทธเจ้าทั้งนั้น และความจริงในเรื่องนี้พระอาจารย์หลายๆท่าน ก็สอนกันไว้ตั้งนานนมกันมาแล้ว พอคนรุ่นหลังเกิดมาใหม่ ก็มาเถียงกันใหม่อีก วันนี้ฟังพระอาจารย์สมภพ สอนอีกที คงแก้ความงุนงงสงสัยกันได้..

พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ เทศนาว่า หนทางที่นำไปสู่ความดับทุกข์นั้น พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนไว้ ในพระไตรปิฎกว่า มี 5 สาย ทั้ง 5 สายนั้นไปถึงความดับทุกข์ได้เหมือนกันหมด อยู่ที่ว่าเราจะใช้เส้นทางไหนเท่านั้นเอง
  1. การฟังธรรม
    เราจะเคยได้ยินว่า ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ หลายคนพอได้ฟังพระธรรมเทศนา ก็บรรลุพระโสดาบันบ้าง สกิทาคามีบ้าง อนาคามีบ้าง บรรลุถึงพระอรหันเลยก็มีมาก นี่การฟังธรรมก็ทำให้เราก้าวไปสู่ความดับทุกข์ได้

  2. การเทศนา
    เวลาที่พระท่านเทศนาไป ท่านก็สามารถบรรลุธรรมได้เช่นกัน เพราะเวลาที่เทศน์อยู่จิตไม่ได้คิดถึงอดีต ไม่ได้นึกถึงอนาคต รวบรวมกำลังจิตใจ กำลังสมาธิ มาอยู่ที่ธรรมะที่กำลังเทศนาอยู่อย่างเต็มที่ ก็สามารถบรรลุธรรม เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในขณะนั้นเลยก็เป็นได้

  3. การสาธยาย หรือ การสวดมนต์
    การสวดมนต์นี่ ท่านก็บอกว่าเป็นทางไปสู่ความดับทุกข์ได้ สวดไปสวดไป ใจเราก็จะสะดุดถึงคำสวดว่า โอ..มันอย่างนี้นี่เอง ยิ่งสมัยนี้ มีสวดมนต์แปล พระท่านแปลไว้ให้แล้ว เราสวดภาษาบาลีไป สวดภาษาไทยไปด้วย เราก็เข้าใจในคำสวดด้วย และบทที่เราสวดนั้นก็คือ ธรรมะล้วนๆ ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร ที่พระพุทธเจ้าทรงเทศนาเป็นครั้งแรก ก็มีบทสวดบทแปลไว้พร้อม อย่างเราสวดทำวัตรเย็นสวดไปสวดไป ธัมโม กุโลกะปะตะนา ตะทะธาริธารี แปลว่า เป็นธรรมทรงไว้ซึ่งผู้ทรงธรรม จากการตกไปสู่โลกที่ชั่ว ..เป็นธรรม ทรงไว้ซึ่งผู้ทรง ธรรม.. มันมี 2ธรรม มี 2ทรงนี่ ผู้ทรงธรรมต้องทรงธรรมไว้ก่อน แล้วธรรมก็จะทรงอยู่กับผู้นั้น.. ต้องทรงก่อน แล้วธรรมก็จะทรงอยู่ มัน2ธรรม 2ทรงอย่างนี้นี่เอง

  4. การคิดพิจารณา
    อันนี้ก็คือ คิดพิจารณาดูตามความจริงไปเรื่อยๆ จากที่ฟังมา จากที่เทศนาสอนคนอื่น จากที่สวดมนต์มา ก็เอามาพิจารณา มีจิตจดจ่ออยู่กับการคิดพิจารณานั้น ทำอะไรก็พิจารณาความทุกข์ ความจริงไปเรื่อยๆ ก็บรรลุธรรมได้ด้วยวิธีนี้ เป็นวิปัสสนาญาณ

  5. การเจริญสมาธิภาวณา หรือ สมถะกรรมฐาน
    เราฟังก็แล้ว สอนก็แล้ว สวดก็ด้วย คิดพิจารณาก็คิด ก็ยังไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านก็บอกว่า ยังมีอีกวิธีที่จะทำให้หลุดพ้นได้คือ การนั่งสมาธิเจริญภาวณา การกำหนดรู้ลมหายใจ เข้าก็รู้ ออกก็รู้ หรือ มีสมาธิรู้อยู่ทุกขณะจิต ท่านบอกว่า knowing being จิตมันก็จะค่อยๆเป็นสมาธิ ทีละน้อยละน้อย แล้วก็จะสงบและหลุดพ้นได้เหมือนกัน

พระอาจารย์สมภพ บอกว่า สมถะ กับ วิปัสสนานี่ แล้วแต่คน พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า บางคน
  • สมถะก่อน แล้วค่อยไปวิปัสสนา ทำใจให้เป็นสมาธิก่อน แล้วค่อยมาพิจารณาหาความจริงก็ได้

  • วิปัสสนา แล้วค่อยมาสมถะก็ได้ บางคนมีสมาธิโดยธรรมชาติ จะคิดพิจารณาอะไร ก็สามารถคิดเรื่องนั้นได้ โดยไม่วอกแวก เขานั้นก็สามารถพิจรณาได้เลย แล้วใจก็จะเป็นสมาธิ Concentrate อยู่กับตรงนั้น เข้าใจเข้าใจ จนกลายเป็นสมถะไปก็ได้เช่นกัน สำหรับข้อนี้ พระอาจารย์สมภพ ท่านยกตัวอย่าง นโปเลียน และ มหาตมะคานธี อย่างนโปเลียน เขามีสมาธิโดยธรรมชาติ ถึงแม้เขาอยู่ในสนามรบ มีเสียงปืน เสียงระเบิด เสียงคน เขาก็สามารถคิดสิ่งที่เขาต้องการจะคิดได้ เขาจะนอนก็นอนหลับได้แม้ในสนามรบ พระอาจารย์สมภพบอกว่า นโปเลียนนี่ฉลาดมาก ถ้ามาเจอพระพุทธศาสนา ได้มาบวชคงได้บรรลุธรรม แต่นี่นำความฉลาดไปใช้เป็นนักรบ ความฉลาดนี่ต้องระวังให้ดี ถ้าใช้ในทางที่ดีก็ฆ่ากิเลสได้ ถ้าปล่อยไว้ก็จะเป็นเครื่องมือของกิเลส บางคนเคยบำเพ็ญบุญไว้ เคยฝึกไว้ในสมัยก่อนๆ มาฝึกสมาธิอีกนิดเดียว ก็จะได้เร็ว หรือบางทีก็เป็นคนมีสมาธิโดยธรรมชาติอย่างนี้ ก็สามารถพิจารณาได้เลย

  • วิปัสสนาและสมถะพร้อมกัน
    พร้อมกันนี่มันก็ได้นะ ท่านบอก บางคนจับลมหายใจไป ก็รู้ไปด้วยถึงความทุกข์ที่มีในลมหายใจ ฝึกไปฝึกไปจนไม่มีลมหายใจ แล้วไปทางสมถะสมาธิก็ได้ หรือเลือกที่จะพิจารณาลึกเข้าไปก็ได้ จิตมันจะเลือกเอง

พระอาจารย์สมภพ ท่านบอกว่า ให้ใช้อานาปานานุสติ คือ รู้ลมหายใจเข้าออก เพราะใช้ได้กับคนทุกแบบ ทุกจริต ทุกCharacter จะฝึกให้หมดลมหายใจไปเลย แล้วขึ้นไปอีกเป็นฌาณสูงขึ้นไปก็ได้ จะมาตั้งใจกับการพิจารณาก็ได้

หนทาง 5 สายนี้นำเราไปสู่ความดับทุกข์ได้ทั้งหมด เหมือนคนไทย คนจีน คนฝรั่ง ใช้ช้อนกินข้าว ใช้มีดซ้อม จีนใช้ตะเกียบพุ้ย ไทยอีสานก็ใช้มือโลด ใช้อุปกรณ์ต่างกันแต่ก็อิ่มเหมือนกัน มันเหมือนกันที่ความอิ่มนี่เอง

ดูเพิ่ม อานิสงส์การสวดมนต์ โดยพระกิตติสาโร สวนป่าสารัตถวโนทยานธุดงคสถาน จ. ขอนแก่น (เขียนไว้เหมือนกันเลย ในเรื่องการสวดมนต์ที่เป็นหนทางหนึ่ง)

No comments:

Add to Google Reader or Homepage