03 August 2007

ประชาไท ไนท์ แจ็คผู้ฆ่ายักษ์

งานประชาไท ไนท์ นี้จัดขึ้นในค่ำวันที่ 2 สิงหาคม 2550 โดยหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท ที่โรงละครมะขามป้อม สี่แยกสะพานควาย มีหัวข้อคุยกันเรื่อง แจ็คผู้ฆ่ายักษ์ โดยยักษ์ในที่นี้คือ ยักษ์เขียวตาเดียวแห่งกระทรวง ICT ฉันไปร่วมงานด้วยความตื่นเต้น ที่จะได้รู้ว่าคนอินเตอร์เน็ต และบล็อกเกอร์ อย่างเราๆ มีความคิดอย่างไร กับการบล็อกเว็ปไซท์ต่างๆของกระทรวง ICT และจะมีแนวคิดในการร่วมมือกันแก้ไขอย่างไรดี เพราะฉันก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่เอาเซนเซอร์ชิป (Censorship) และคัดค้านการปิดหูปิดตาประชาชนเป็นอย่างยิ่ง


แต่สิ่งที่ได้จากวันนี้นั้น คือสิ่งที่ทำให้ฉันรู้อย่างมั่นใจว่า การเซนเซอร์เป็นสิ่งจำเป็นในสังคม ไม่ว่าจะสังคมไหนๆก็ตาม คนที่มาพูดในวันนี้ นำภาพโป๊ อนาจาร น่าเกลียดที่สุดเท่าที่ฉันเคยเห็นมาตลอดชีวิต มาฉายขึ้นจอ แล้วก็บอกว่า นี่โดยเซนเซอร์ นี่ก็โดยเซนเซอร์ เราถูกปิดกั้น พูดถึงเนื้อเพลงฝรั่งวงต่างๆที่มีเนื้อหารุนแรง เกี่ยวกับเพศแล้วก็ถูกเซนเซอร์ แต่คุณเคยฟังเพลงฝรั่งที่แรงๆ ไหม มันหยาบคายมาก มากจนคุณหวังว่าคุณไม่เคยได้ยินมัน เพราะมันทำร้ายสุขภาพจิตอย่างแรง เกือบทุกคนบอกว่าเราโดนปิดกั้น เราถูกปิดตา ถ้ามีคนที่มีชีวิตปรกติอย่างฉันไปได้เห็น จะต้องรู้สึกว่า ทำไมงานนี้มันไร้ความศิวิไลถึงขนาดนี้ ฉันมั่นใจว่า ฉันไม่อยากให้สังคม ได้รับประสบการณ์แบบที่ฉันได้รับ ในคืนนี้ รูปผู้ชาย 4คนยืนเปลือย แล้วถ่ายขึ้นไปจากมุมต่ำ ให้เห็นอวัยวะเพศอย่างเต็มตา เป็นภาพที่อุจาดตาเป็นอย่างมาก อย่างนี้คุณคิดว่าควรจะเซนเซอร์ไหม นอกจากนี้คุณเจ้าของงาน ผู้ที่มีคนเรียกว่า "อาจารย์" รวมทั้งผู้เข้าร่วมงานบางท่าน ก็กินเบียร์ไป คุยกันไป งานนี้ที่ฉันตั้งใจมาตามจุดประสงค์ของงานที่ว่า เพื่อหาไอเดียการแก้ปัญหาการเซนเซอร์และปิดกั้นข่าวสารในไทย กลับกลายเป็นการมั่วสุม เพื่อบ่น และประชดประชัน เอาความสะใจ ของคนบางกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าผู้รักอิสระ ไม่มีใครเสนอทางออก หรือ วิถีทางที่มุ่งไปข้างหน้าเลย

จริงๆแล้ว สำหรับหนัง และเพลงที่มีเนื้อหาหยาบคาย หรืออนาจารนั้น ที่ต่างประเทศก็มีการจัดเรต อย่างที่บ้านเรากำลังทำกับรายการโทรทัศน์ อยู่ตอนนี้ มันเป็นสิ่งดี เราทำให้ผู้บริโภคเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเองได้ คนที่ไม่ต้องการจะรับภาพอนาจาร ก็ไม่ต้องถูกยัดเยียดให้ โดยความไม่รู้ แจ็คผู้ฆ่ายักษ์นี้ กลับบอกว่า สติกเกอร์ ที่แสดงว่า พ่อแม่ควรให้คำแนะนำ หรือดูแล (Parent Advisory) เป็นสิ่งไม่ดี เป็นการปิดกั้น ฉันคิดว่าความคิดนี้ เป็นการมองสังคมในหน่วยที่แคบเกินไป สังคมประกอบด้วยคนหลากหลาย ต่างอายุ ต่างอาชีพ ต่างสภาพจิตใจ ทุกคนควรมีสิทธิ์ที่จะได้เลือก โดยใช้ข้อมูลของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ซื้อขนมยังมีบอกว่าใส่อะไรบ้าง แล้วสติกเกอร์หรือการจัดเรตติ้ง ทำไมควรต่อต้าน ทำไมเรียกว่าปิดกั้น

นอกจากนี้ งานนี้ก็มีการกล่าวถึงพรบ.การกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ ว่า ปิดกั้น?! พรบ. การกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์นี้ อันที่จริงแล้ว จากที่ได้ไปฟังสัมมนากับกระทรวง ICT มานั้น เพียงแค่ขอให้ผู้ให้บริการทางอินเตอร์เน็ตเก็บล็อก (log) ไว้ 90วัน เพื่อการตรวจค้นเมื่อมีคดี ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นเจ้าข้อมูลนั้นๆ และไม่มีอำนาจจะเข้าไปดูได้ ถ้าเข้าไปดู ไปเข้าถึง ก็มีความผิดเช่นกัน ความจริงแล้วพรบ.นี้ มีประโยชน์มาก ในการจับผู้ร้ายในยุคนี้ ถ้าญาติคุณถูกฆ่า โดยมีหลักฐานที่สามารถชี้ตัวคนผิดได้บนอินเตอร์เน็ต แต่ถ้าทางผู้ให้บริการไม่มีการเก็บล็อกไว้เลย ก็ไม่มีกฎหมายบังคับให้ทำนี่นา ก็หาหลักฐานไม่ได้ ชี้ตัวคนร้ายไม่ได้ มันจะทำให้คุณเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับพรบ.นี้หรือไม่

ฉันคิดว่า ถ้าไม่ต้องการให้มีกฎใดๆในสังคมเลย ไม่ให้มีการเซนเซอร์ ไม่ให้มีการจัดเรต ให้ทุกอย่าง "เปิดเสรี" ใครจะทำอะไรก็ตามใจ คงมีสิ่งร้ายๆเกิดขึ้นมากมาย มีคนนั่งอึข้างถนน มีคนทำอนาจารเด็ก วีดีโอโป๊เฟื่องฟู ถ้าต้องการให้ทุกอย่างเปิดเสรีขนาดนั้น คงต้องไปอยู่ป่ากับพรรคพวก งานแจ็คผู้ฆ่ายักษ์นี้ ตกต่ำไปจน มีการเอาวีดีโอโป๊มาฉาย คนก็เฮ ทั้งๆที่ก็มีผู้หญิงเข้าร่วมงานอยู่ไม่น้อย เป็นการไม่ให้เกียรติผู้หญิงอย่างยิ่ง มันทำให้ฉันทนไม่ได้อีกต่อไปที่จะอยู่ร่วมงาน แจ็คผู้ฆ่ายักษ์ ก็ต้องกลายเป็นแจ็คผู้ฆ่าตัวตายซะนี่

การแก้ปัญหาการเซนเซอร์นั้น ฉันคิดว่า ควรจะกำหนดให้ชัดเจนว่า จะเซนเซอร์ไซท์ประเภทไหน เพราะอะไร ส่วนเวปไซท์ อย่างยูทูป (YouTube) หรือ เวปข่าวบางเวปก็ไม่ควรจะเซนเซอร์เป็นอย่างยิ่ง เนื้อหาไม่ดีในเวปนั้นๆ ก็จะถูกทำให้หายไป หรือถูกคว่ำบาตรไปเอง โดยธรรมชาติและความสมดุลของระบบนิเวทบนเวป ส่วนการเซนเซอร์เวปโป๊นั้น ควรทำในลักษณะการโปรโมทและแจก Software ที่ป้องกันไม่ให้เข้าเวปที่กำหนดว่าจะบล็อกมากกว่า โดยกำหนดให้คอมพิวเตอร์ที่โรงเรียนและ สถานที่ราชการต้องลงโปรแกรมนี้ นอกจากนี้ ยังสามารถรณรงค์ให้ พ่อ แม่ และคนในสังคม เห็นความสำคัญของซอฟแวร์นี้ และใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น เวปโป๊อันที่จริงก็เป็นสิ่งที่ไม่ดี คนที่ดูก็จะเสพติดพฤตกรรมการเข้าออกเวปโป๊ หนักๆเข้า ดูที่ทำงาน แล้วโดนไล่ออก เสียชื่อเสีย ก็มีหลายราย แต่ถึงอย่างนั้น มันก็ยังไม่ใช่หน้าที่ของรัฐที่จะมาบล็อกอยู่ดี ผู้บรรลุนิติภาวะแล้วควรมีสิทธิ์เลือกด้วยตัวเอง แต่ก็ควรมีสิทธิ์ได้รับความคุ้มครองด้วยระบบเรตติ้งเช่นกัน

ดูเพิ่ม การจัดเรตติ้งรายการโทรทัศน์

6 comments:

bact' said...

สิ่งที่น่าเป็นห่วง ในการเก็บ log ก็คือ
เจ้าพนักงาน สามารถขอดูได้ทันที โดยไม่ต้องขอหมายศาล

ใครจะมาค้นบ้านเรา ยังต้องมีหมายศาล
แล้วทำไมการขอดูบันทึกกิจกรรมการใช้เน็ตของเรา ถึงไม่ต้องขอหมายศาล ทำไมถึงขอดูได้ทันที ?

ที่ร้ายกว่าก็คือ ในกรณีค้นบ้าน ขนาดมีหมายศาลแล้ว ก็ยังค้นบ้านเราได้แค่ตั้งแต่วันที่ศาลออกหมายให้
แต่ในกรณีอินเทอร์เน็ต เขายังค้นย้อนกลับไปได้อีก **อย่างน้อย** 90 วัน -- โดยไม่ต้องมีหมายศาล

เราเห็นด้วยที่จะมีกฎหมายออกมาคุ้มครองดูแล
แต่ในขณะเดียวกัน เราเป็นห่วงอย่างยิ่งกับการให้อำนาจเกินขอบเขตแก่เจ้าพนักงาน

bact' said...

ส่วนการจัดเรตติ้งนั้น ก็เป็นสิ่งที่ดี ที่ควรจะสนับสนุน
เพื่อให้ผู้บริโภคและผู้ปกครอง ได้เลือกในสิ่งที่เหมาะกับตัวและลูกหลานของตัว

แต่สิ่งที่เราต่อต้าน คือ ความไม่โปร่งใสและล้าสมัยในการกระบวนการจัดเรตติ้ง และการหมกเม็ดใน พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้อง

เช่นกรณีของพ.ร.บ.ภาพยนตร์ ที่เนื้อหาสาระแม้จะระบุให้มีการจัดเรตติ้ง แต่รัฐยังคงอำนาจเต็มในการเซ็นเซอร์อยู่เช่นเดิม
-- และเมื่อมีการออกสื่อ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลับโฆษณาแต่เรื่องการจัดเรตติ้ง แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องการเซ็นเซอร์เลย
เช่นนี้คือ การบอกความจริงเพียงครึ่งเดียวใช่หรือไม่ ?


พ.ร.บ.ทั้งหลายที่ออกมาในช่วงนี้
ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.คอมฯ, ภาพยนตร์, วิทยุโทรทัศน์, สิ่งพิมพ์, และวัตถุยั่วยุ รวมถึง พ.ร.บ.ความมั่นคง
ล้วนมีพฤติกรรมเหล่านี้ทั้งสิ้น
คือใช้ ศีลธรรม ความดีงามทั้งหลายบังหน้า ใช้เป็นจุดขาย
แต่ในเนื้อหาล้วนสอดแทรกการใช้อำนาจรัฐเข้าควบคุมการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองทั้งสิ้น

สังคมเรากำลังตกอยู่ใน "วาทกรรมคนดี"

bact' said...

และที่สุดแล้ว
ในเนื้อหาที่ควรจะมีการเซ็นเซอร์
มันก็ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐอยู่ดี ที่จะมาบอกว่าอะไรควรไม่ควร
แต่เป็นหน้าที่ของสังคม และตัวผู้รับสารเอง ที่จะปฏิเสธ

การเซ็นเซอร์นั้น หากจะเกิดขึ้น ก็ควรจะเป็นที่ปลายน้ำ (end user)
ไม่ใช่ที่ต้นน้ำ อย่างที่รัฐทำอยู่ทุกวันนี้
เพราะมาตรฐานของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน

เราไม่ต้องการ nanny state หรือ รัฐแบบ "คุณพ่อรู้ดี"

เราเลี้ยงลูกเองได้ ไม่ต้องให้รัฐมาเลี้ยงให้

blueswing said...

ขอบคุณคุณ bact' สำหรับความคิดเห็น

ฉันคิดว่า การที่เราได้เริ่ม เป็นสิ่งดี การเริ่มต้นของการมีพ.ร.บ.การกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ การเริ่มต้นของการจัดเรต เป็นสิ่งดี มันอาจมีข้อไม่สมบูรณ์ไปบ้าง ซึ่งต้องการการแก้ไข ไม่ใช่การต่อต้าน เราและประเทศเราควรเดินไปข้างหน้า

ส่วนความคิดเห็นของประชาชนนั้น ไม่มีใครควบคุมได้ อย่างการไปประชาไทไนท์ ต่างคนก็มีความคิดเห็นต่างๆกันไป ทุกคนก็ได้พูดได้เขียน หรือแม้แต่ในขณะนี้ก็ยังมีผู้ประท้วงอยู่ที่สนามหลวงเลย ทุกคนก็กำลังแสดงความคิดเห็นของตัวอยู่

ทุกๆประเทศก็ต้องมีกฎหมายเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย ของบ้านเมือง บางสิ่งบางอย่าง อย่างที่มาโชว์กันที่ประชาไทไนท์นั้น ล้วนแต่ต้องการการเซนเซอร์ทั้งสิ้น สิ่งเหล่านั้นมีผลเสียคือ เป็นสิ่งยั่วยุทางอารมณ์ ถ้าคนในชาติได้ดูกันอย่างแพร่หลายและเปิดเผย ทั้งโดยตั้งใจและ ไม่ตั้งใจคือโดนยัดเยียดให้จากสื่อ สังคมเราคงตกต่ำลงมาก เราควรมืสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยค่ะ ถ้าเราไม่ใช่เด็ก เราก็ไม่รู้สึกว่า มีคุณพ่อรู้ดีหรอกค่ะ ทุกอย่างสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยการคุยกันกับผู้รับผิดชอบ มันไม่มีคุณพ่อรู้ดีหรอก เพียงแค่กฎหมายทางด้านนี้ของประเทศเรายังแบเบาะอยู่เท่านั้น อย่างละทิ้งความหวัง คิดว่าคนในประเทศ หรือในรัฐบาล มีแต่คนไม่ดีเลย เราก็เป็นคนไทย เพียงแค่เรามองไปข้างหน้า ช่วยกันคิดช่วยกันทำ มองถึงส่วนรวม มองทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ประเทศเราก็จะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆค่ะ

burlight said...

สวัสดีครับคุณ bact' :)
- ตามพรบ.นี้พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีอำนาจจะค้นอะไรก็ได้ตามใจชอบไม่ใช่เหรอครับ? ถ้าไม่ได้เป็นคนกระทำผิดหรือพยายามจะกระทำผิดแล้วก็ไม่น่าจะต้องเป็นห่วงนะครับ
- เพราะเจ้าหน้าที่จะขอเรียกดู log ได้ก็ต่อเมื่อ "มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำผิด"
- และใช้อำนาจได้เพียง "เฉพาะที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำผิด"
- เพราะฉะนั้นถ้าเจ้าหน้าที่มาขอข้อมูล แล้วให้ผู้บริการบ้าจี้ให้ไปทั้งดุ้นทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับการกระทำผิดนั้น ก็ปัญหาของผู้ให้บริการที่ไม่รักษา privacy ของผู้ใช้บริการแล้วล่ะครับ ซึ่งก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ไม่ใช่ปัญหาของตัวพรบ.นี้
- เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่จะมาค้น log ทั้งหมด เหมือนกับค้นทั้งบ้านนั้น ตามพรบ.นี้แล้วทำไม่ได้อย่างแน่นอน
- ตัวอย่างของการขอข้อมูลตามวรรค 2-3 ก็อย่างเช่น สอบถามจากผู้ให้บริการเว็บบอร์ดว่าโพสต์นี้ IP เบอร์อะไร โพสต์เมื่อวันเวลาเท่าไหร่ จากนั้นก็เอา IP และวันเวลานั้นไปถาม ISP ต่อว่า IP นี้เป็นของโทรศัพท์เบอร์อะไรของใครในเวลานั้น (จากงานสัมมนา)
- สาเหตุที่ทำให้ต้องยกเว้น วรรค 1-3 มาตรา 18 ออกมาจากวรรคอื่นที่ต้องขอหมายศาล คาดเดาได้ว่าเพราะ เพื่อความรวดเร็วในการสอบสวน บวกกับเพราะไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิประชาชน

note: เรากำลังพูดถึงเนื้อหาของพรบ.การกระทำผิดเกี่ยวกับคอมฯว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องว่าเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเกินขอบเขตหรือไม่

bact' said...

ยินดีสำหรับความเห็นจาก blueswing และ burlight

ตอบบรรทัดสุดท้ายของ burlight

เรากำลังพูดถึงสิทธิเสรีภาพในการ คิด เชื่อ แสดงออก เข้าถึง และรับรู้ ข้อมูลข่าวสาร
พ.ร.บ.หรือกฎหมายใด ๆ เป็นเพียงเครื่องมือ
และเราคิดว่า มันคับแคบเกินไปในเรื่องนี้ หากเราจะคิดถึงแต่กฎหมายตัวใดตัวหนึ่ง (เช่นที่ว่า "ก็[เป็น]ปัญหาของผู้ให้บริการที่ไม่รักษา privacy ของผู้ใช้บริการแล้วล่ะครับ ซึ่งก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ไม่ใช่ปัญหาของตัวพรบ.นี้" -- พ.ร.บ.คอมฯ นี้ถูกร่างมาพร้อม ๆ กับ พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลและพ.ร.บ.อื่น ๆ อีก 4 ฉบับ รวมเป็น 6 ฉบับ และออกแบบมาให้ทำงานร่วมกัน คานอำนาจกัน - และเวลาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า เรามีพ.ร.บ.คอมฯ ประกาศใช้มาแล้วเกินครึ่งปี แต่พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลนั้น ยังไม่ได้ถูกเสนอเข้าสภา/สนช.เลยด้วยซ้ำ)


เราเห็นด้วยว่าเราต้องมองไปข้างหน้า
เราต้องการมองไปข้างหน้า
แต่ข้างหน้าของเรา เราต้องกำหนดเองได้ และไม่จำเป็นต้องเหมือนข้างหน้าที่รัฐต้องการให้เป็น เราขอยืนยันสิทธิพลเมืองนี้ และขอเรียกร้องให้พลเมืองทุกคนยืนยันสิทธินี้ของตนเช่นกัน


บทสัมภาษณ์ จดหมายข่าวปฏิรูปสื่อ
http://bact.blogspot.com/2007/11/media-freedom-interview-on-cpmrs-media.html

Add to Google Reader or Homepage